:: สันติ-วีณา: หนังเก่า เล่าใหม่ สไตล์ไทยพุทธ ::

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการเทใจรับใช้สังคม ครั้งที่ 3 หัวข้อ วัฒนธรรมศึกษาบนสื่อภาพยนตร์ กรณีศึกษาสันติ-วีณา: หนังเก่า เล่าใหม่ สไตล์ไทยพุทธ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในวัฒนธรรมไทยศึกษาการสื่อภาพยนตร์ รวมถึงการสร้างความตระหนักและการคิดวิเคราะห์ต่อประเด็นความเชื่อและพุทธศาสนาในสังคมไทย รวมถึงยังเป็นการเผยแพร่ภาพยนตร์ที่ทรงคุณค่า ซึ่งภาพยนต์เรื่องสันติ-วีณา เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยาวเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ จากงานประกวดภาพยนตร์นานาชาติแห่งเอเชียอาคเนย์ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2497 ซึ่ง สันติ-วีณา ได้รับรางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม (รัตน์ เปสตันยี) กำกับศิลป์ยอดเยี่ยม (อุไร ศิริสมบัติ) และรางวัลพิเศษจากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกาในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ที่แสดงวัฒนธรรมของเอเชียได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ถ่ายทำในระบบ 35 ม.ม. ได้รับคัดเลือกเข้าไปฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ในสาย “คานส์ คลาสิคส์” (ปี 2559) นอกจากเรื่องราวความสำเร็จของการสร้างหมุดหมายสำคัญให้แก่วงการภาพยนตร์ไทยบนเวทีระดับนานาชาติแล้ว สันติ-วีณา ยังมีเรื่องราวความคับข้องใจของรัตน์ เปสตันยีผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ ที่ถูกเรียกเก็บภาษีจำนวนสูงถึง 5,000 เหรียญสหรัฐ เพื่อนำเข้ากล้อง Mitchell BNC ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษที่ได้จากสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งอเมริกาจึงทำให้ผู้สร้างต้องขอเปลี่ยนเป็นกล้อง Mitchell NC ซึ่งราคาถูกกว่าแทน แล้วนำส่วนต่างมาจ่ายเป็นค่าภาษี นอกจากนี้ ผู้สร้างยังถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าฟิล์มภาพยนตร์ต้นฉบับของ สันติ – วีณา ที่ถูกส่งกลับมาจากญี่ปุ่น ทำให้รัตน์ตัดสินใจทิ้งฟิล์มต้นฉบับไว้ที่ญี่ปุ่น ก่อนจะส่งต่อไปเก็บไว้ที่แล็บในประเทศอังกฤษ แต่ระหว่างขนส่งทางเรือฟิล์มต้นฉบับได้รับความเสียหาย จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีฟิล์มต้นฉบับสันติ – วีณา ส่วนฟิล์มที่ใช้สำหรับฉายก็ไม่หลงเหลืออยู่ในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาหอภาพยนตร์ได้พยายามติดตามฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง สันติ-วีณา มาโดยตลอด จากข้อมูลที่ว่ามีการซื้อขายก็อปปี้ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้กับสหภาพโซเวียตและ สาธาณรัฐประชาชนจีน ซึ่งในที่สุดความพยายามค้นหานั้นก็ประสบความสำเร็จเมื่อหอภาพยนตร์ ได้รับคำยืนยันว่าฟิล์มภาพยนตร์เรื่อง สันติ – วีณา อยู่ที่คลังฟิล์มภาพยนตร์ของ Gosfilmofond ของประเทศรัสเซีย และหอภาพยนตร์แห่งชาติของจีน ปัจจุบันหอภาพยนตร์ กำลังประสานเพื่อบูรณะภาพยนตร์ไทยเรื่องสำคัญนี้ และเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยกิจกรรมในโครงการมีการเปิดให้ชมภาพยนต์และเสวนาหัวข้อ วัฒนธรรมศึกษาบนสื่อภาพยนตร์-กรณีศึกษาสันติ-วีณา: หนังเก่า เล่าใหม่ สไตล์ไทยพุทธ ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณชลิดา เอื้อบำรุงจิต ผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) คุณก้อง ฤทธิ์ดี คุญสัญห์ชัย โชติรสเศรณี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ให้เกียรติพูดคุยเกี่ยวกับประวัติของภาพยนจร์ การสืบค้นหาฟิล์มที่หายไป และการบูรณะภาพยนตร์ให้กลับมาสมบูรณ์มากที่สุด รวมถึงรับฟังมุมมองเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ในทัศนคติของชาวต่างชาติ จาก Prof. Dr. Rachel Harrison, SOAS, University of London โดยมี ดร.อาทิตย์ พงษ์พานิช รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 10 สิงหาคม 2563 เวลา 13.00 น. ณ ห้อง Main Conference ชั้น 1 อาคารกองบริการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (CITCOMS) มหาวิทยาลัยนเรศวร

ภาพกิจกรรมทั้งหมด