สารจากคณบดี ฉบับที่ 14 : การให้

การให้ (Giving) เป็นวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ที่ช่วยทำให้สังคมมนุษย์น่าอยู่ ก่อนศตวรรษที่ 20      การให้ มักมีรากฐานมาจากความรู้สึก ความต้องการ และความสัมพันธ์ส่วนบุคคลระหว่างผู้ให้กับผู้รับ ของที่มนุษย์มอบให้แก่กันก็มีเพียงสองแบบ แบบแรก ได้แก่ สิ่งที่เป็นวัตถุจับต้องได้ เช่น สิ่งของ เงินทอง และปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิต เช่น อาหาร เสื้อผ้า ที่พัก หรือยารักษาโรค แบบที่สอง ได้แก่ สิ่งที่เป็นนามธรรมจับต้องไม่ได้ เช่น ความรัก ความเมตตา การให้กำลังใจกันและกันยามทุกข์ยาก การกระตุ้นให้เกิดความตั้งใจ การให้โอกาส และการให้เวลา

การให้ เป็นวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Culture) ที่ถูกผูกไว้กับเวลา (Time) และพื้นที่ (Space) และยังเป็นวัฒนธรรมที่ซับซ้อน เพราะแอบแฝงไว้ด้วยคุณค่า โครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และตำแหน่งแห่งที่ของบุคคลในสังคม ที่เลื่อนไหลไปตามเวลา และสถานที่ การให้ในรูปของ ของขวัญ ของฝาก สามารถใช้บ่งบอกระดับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และสถานภาพทางสังคมระหว่างผู้ให้และผู้รับ ตัวอย่างเช่น ในโลกทุนนิยม ที่วัตถุมีความสำคัญต่อความสัมพันธ์และสถานภาพทางสังคม บุคคลเลือกตัดสินใจซื้อที่ตัดเล็บ พวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น ราคาย่อมเยาฝากเพื่อนร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา แต่เลือกซื้อไวน์ เครื่องประดับ หรือกรอบรูปราคาแพงให้ผู้บังคับบัญชา ในงานศพ ประธานฯในพิธีได้รับดอกไม้จันทน์ช่อใหญ่ ได้นั่งโซฟาหรูหรา ในขณะที่แขกผู้มาร่วมงานทั่วไปได้ดอกไม้จันทน์ช่อเล็กๆ และนั่งเก้าอี้เหล็ก หรือในงานบุญ ประเภทกฐิน ผ้าป่า ประธาน หรือกรรมการถูกคาดหวังว่าต้องเอาเงินใส่ซองทำบุญให้สอดคล้องกับตำแหน่งแห่งที่ในสังคม

mpj043092500001การให้ จึงเป็น วัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์ เพราะเป็นกิจกรรมทางสังคม ที่ทำหน้าที่ในการประกอบสร้างภาษา ที่มนุษย์ในสังคมทุนนิยม ใช้เพื่อสื่อสารนอกกรอบของการพูด และเป็นกุญแจสำคัญที่มนุษย์นำมาใช้เชื่อมโยงระหว่างสัญญะ (Sign) วัตถุ (Object) และการให้ความหมาย (Meaning) การทำความเข้าใจและการตีความการให้ จึงช่วยบ่งบอกคุณค่า และมุมมองของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้และผู้ถูกให้ ที่ถูกกำหนดโดยรูปแบบของการให้ และวัตถุที่ถูกให้แก่กัน สัญญะของการให้จึงสะท้อน การผูกยึด (Detachment) ระหว่างบุคคลหรือระบบ เพื่อสร้างเงื่อนไขของการเป็นอิสระ (Autonomy) การนำ (Dominance) และการพึ่งพิง (Dependence)

การให้ จึงเป็นเครื่องมือที่สะท้อนความคิดของคนในสังคม และเป็นกุญแจสำคัญ ในการทำความเข้าใจกับ สัญลักษณ์ (Symbol) วัตถุ (Object) และบุคคล (Person)น ในสังคมนั้นๆ การให้ สะท้อนความหมายของวาทกรรมในเชิงสัญลักษณ์ (Discursive Symbolism) ที่คนในสังคมพูดและแสดงออก และวาทกรรมที่ไม่ใช่สัญลักษณ์ (Non-discursive Symbolism) ที่บุคคลให้ความหมาย ให้คุณค่า เช่น ศิลปะ เพลง และการแสดงต่างๆ

การเสื่อมลงของวัฒนธรรมการให้ในสังคมทุนนิยมไทยๆ สะท้อนความเสื่อมของระบบคุณค่า ความไม่งดงาม และความหยาบ ของความคิดที่แม้จะยังถูกสะท้อนผ่านการให้วัตถุแก่กัน ผ่านปรากฏการณ์ทางสังคมที่แตกต่างกันไปตามเงื่อนไขของเวลาและสถานที่ แต่การ “ไม่ให้” เชิงสัญลักษณ์ ก็สะท้อนความงามภายในของบุคคลและสังคมในภาพรวม

รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร

คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ตุลาคม 2559