ใต้ร่มราชพฤกษ์:
 

ในขณะที่ระบบโลกในยุคโลกาภิวัตน์กำลังบูรณาการเข้าด้วยกันในทุกมิติ พัฒนาการทางเศรษฐกิจในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมาของอภิมหาอำนาจทางวัฒนธรรมในเอเชียอย่างประเทศจีนกับอินเดียหลังจากที่ตกอยู่ในภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจมากกว่าหนึ่งศตวรรษครึ่ง ทำให้ศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจโลกได้เคลื่อนย้ายมาสู่เอเชีย ภูมิภาคเอเชียจึงกลายเป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศของโลก การกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศไทยให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์การเมืองโลกดังกล่าวจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยประกาศตัวผนวกเข้ากับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วยการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ในปี พ.ศ.2558 และข้อเสนอให้มีการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก (East Asian Economic Community) ด้วยเหตุที่การค้าและการลงทุนของประเทศไทยต้องผูกพันกับภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากยิ่งขึ้น และข้อตกลงทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในกรอบเศรษฐกิจที่สัมพันธ์ร้อยรัดประเทศไทยเข้ากับภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปรากฏขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงระยะเวลา 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA), ความร่วมมือในเขตการค้าเสรีอาเซียนกับจีน อินเดียและดินแดนอื่นๆ (AFTA with China, India and the rest), เขตการค้าเสรีเอเชียตะวันออก (East Asian Free Trade), เขตการค้าเสรีอาเซียนกับจีน (ASEAN-China Free Trade Area) และเขตความร่วมมือในลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Subregion) โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการระบบเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงจีนเข้ากับทวีปเอเชียทั้งหมด ซึ่งจะทำให้จีนเปิดเส้นทางคมนาคมขนส่งลงสู่เมืองท่าชายฝั่งทะเลได้รอบทิศในทุกน่านน้ำ จากเดิมที่เคยถูกปิดล้อมในช่วงสงครามเย็น ภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงไม่ได้เป็นแค่พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจและการเมืองโลกในยุคหลังสมัยใหม่ แต่คือหุ้นส่วนสำคัญทั้งในทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศไทยและมีแนวโน้มว่าจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

ในอดีตที่ผ่านมา แม้สังคมไทยจะเคยมีจารีตอันยาวนานของการสั่งสมองค์ความรู้และการผลิตความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/ภูมิภาคเอเชีย แต่การเปลี่ยนแปลงทั้งในทางการเมืองระหว่างประเทศและการพัฒนาด้านอารยธรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้ศูนย์กลางในการผลิตความรู้ได้เคลื่อนย้ายไปยังโลกตะวันตก จนทำให้ความรู้และสถาบันในการผลิตความรู้เกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา/เอเชียศึกษาที่สังคมไทยมีอยู่ในปัจจุบันโดยส่วนใหญ่ต้องหันไปพึ่งพิงโลกตะวันตก การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้บริบทเช่นนี้ล้วนเป็นโจทย์ วิธีคิด มุมมอง และทฤษฎีของนักคิดในสังคมตะวันตก โดยสังคมไทยไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในกระบวนการผลิตความรู้ดังกล่าว โดยเฉพาะความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนปัญหาที่ผูกพันชะตากรรมของผู้คนในภูมิภาคนี้ ในฐานะที่สังคมไทยมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสำคัญต่อภาวะความเป็นไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/ภูมิภาคเอเชียและต่อการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศในบริบทของภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจโลก การผลิตนักวิจัยที่มีทักษะและคุณภาพในการวิจัย ตลอดจนการผลิตความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้/ภูมิภาคเอเชียให้เป็นระบบ จึงเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนในนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทย 20 ปี (Thailand 4.0) อีกทั้งเพื่อจัดวางให้สังคมไทยมีบทบาทนำด้านความคิดและการกำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศและภูมิภาคในกระแสการเปลี่ยนแปลงระดับโลก

ดังนั้นเพื่อให้กระบวนการพัฒนาการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อการผลิตความรู้และการจัดการความรู้เกี่ยวกับ “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ดำเนินไปอย่างครอบคลุมและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในบริบทของภูมิศาสตร์การเมืองโลกยุคปัจจุบัน ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จึงเห็นควรให้มีการพัฒนา “หน่วยวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา” โดยมุ่งสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างนักวิจัยระดับสูงและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา เพื่อให้สามารถพัฒนาที่มีคุณภาพและสามารถผลิตความรู้ใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของประเทศและโลกยุคใหม่ในขณะที่สังคมไทย/เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังต้องการนักคิด-ผู้มีความรู้ด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเพื่อให้มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของสังคมไทยและของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  1. เพื่อจัดตั้งศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยนเรศวร (NUSS – Naresuan University Center of Southeast Asian Studies)
  2. เพื่อศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประชาคมอาเซียน ให้สามารถนำไปใช้ในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ สามารถพึ่งตนเองและแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ
  3. เพื่อให้บริการทางวิชาการเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประชาคมอาเซียนให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคอาเซียน

หลังจากเริ่มก่อตั้งหน่วยวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาขึ้นใน พ.ศ.2556 แล้ว หน่วยวิจัยทำหน้าที่สนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัยของหลักสูตรต่างๆ ของภาควิชาประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ได้พยายามจัดหาเอกสารและผลงานทางวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ สำหรับให้นิสิตและอาจารย์ใช้ในการค้นคว้า โดยในเบื้องต้นได้รับบริจาคหนังสือจากครอบครัวของ Dr. Charles T. Alton อดีตอาสาสมัครสันติภาพ (Peace Corp.) ที่เคยเข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้เข้ามาทำวิจัยอยู่ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องหลังจากจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตรแล้ว เมื่อ ดร.อัลตัน ได้ถึงแก่กรรมลงในเวียงจันทร์ ประเทศลาวในช่วงกลางปี 2554 หน่วยวิจัยได้รับการประสานงานจากมิตรผู้หนึ่งว่า ครอบครัวของ ดร.อัลตัน ประสงค์จะบริจาคเอกสารจำนวนมากที่ ดร.อัลตัน เก็บรวบรวมไว้ ในเบื้องต้น ครอบครัวของ ดร.อัลตัน ได้กรุณาขนย้ายเอกสารเหล่านั้นมาจากประเทศลาวมาไว้ที่บ้านพักในตัวเมืองขอนแก่น หน่วยวิจัยจึงได้ขนย้ายเอกสารเหล่านั้นมาเก็บไว้ที่ห้องทำงานชั่วคราวของหน่วยวิจัยในตึกหลังเก่าของคณะสังคมศาสตร์เดิม จากนั้นจึงได้คัดแยกเอาเอกสารชั้นต้นจำนวนหนึ่งมอบให้แก่หอจดหมายเหตุด้านมานุษยวิทยาของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (กรุณาดูข้อมูลใน www.sac.or.th/databases/anthroarchive/main.php) ส่วนหนังสือและสำเนาเอกสารทั่วไปด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษานั้นได้เก็บไว้ในห้องค้นคว้าของหน่วยวิจัย โดยภาควิชาประวัติศาสตร์ได้จัดงบประมาณอีกจำนวนหนึ่งจัดซื้อหนังสือเพิ่มเติมขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง ในปัจจุบัน หลังจากที่คณะสังคมศาสตร์ได้ย้ายมาเปิดดำเนินการ ณ ตึกใหม่ ภาควิชาประวัติศาสตร์ได้กำหนดแผนให้มีการจัดทำ “ห้องนเรศวรวิจัย” ขึ้น หลังจากที่ได้เปิดใช้ห้องดังกล่าวแล้ว หน่วยวิจัยจึงได้นำเอาหนังสือทั้งหมดที่มีอยู่ รวมกับหนังสือสะสมเดิมในห้องชมรมประวัติศาสตร์และหนังสือบริจาคบางส่วนของ รศ.ดร.จิราภรณ์ สถาปนะวรรธนะ มารวมกันไว้ในห้องเดียวกันทั้งหมด จนในปัจจุบัน หน่วยวิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามีเอกสารและหนังสือวิชาการสำหรับการค้นคว้าของนิสิตและอาจารย์อยู่ระดับหนึ่ง

ในช่วงเดียวกันนั้น หน่วยวิจัยได้ออกวารสารวิชาการ “ชุมทางอินโดจีน: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปริทัศน์” เพื่อใช้เป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์หลักสูตรและส่งเสริมบรรยากาศทางวิชาการ โดยเริ่มออกเผยแพร่เป็นเล่มแรกฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 ในเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม พ.ศ.2555 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พยายามทำงานจนสามารถออกวารสารอยู่ได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งจนถึงปีที่ 5 ฉบับที่ 8 ในเดือนมกราคม-มิถุนายน พ.ศ.2559 หน่วยวิจัยก็ได้ตัดสินใจยุติการออกวารสารเอาไว้ชั่วคราวเนื่องจากปัญหาเรื่องงบประมาณและการขาดแคลนกำลังคน

นอกจากนี้ หน่วยวิจัยได้พัฒนาโครงการวิจัยชุด “ภูมิทัศน์ปัญญาชนอาเซียน: เรียนรู้เพื่อร่วมเดินไปด้วยกัน” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และได้รับทุนจากเวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทยอีกเช่นกันในการจัดประชุมทางวิชาการระดับชาติเรื่อง “ปัญญาชน ศีลธรรม และสภาวะสมัยใหม่: เสียงของมนุษยศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?” (Intellectuals, Moralities, and Modernities: Voices of the Humanities in Southeast Asia?) ในระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม พ.ศ.2558 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้ หน่วยวิจัยได้คัดเลือกบทความจำนวนหนึ่งจากการประชุมวิชาการดังกล่าวมาพิมพ์โดย สกว. และได้คัดเลือกเอางานวิจัยจำนวนหนึ่งจากโครงการวิจัย “ภูมิทัศน์ปัญญาชนอาเซียน” มาตีพิมพ์เป็นเล่ม อาทิ “เรย์นัลโด้ อิเลโต้: มวลชนคนชั้นล่าง ประวัติศาสตร์แห่งชาติ และความรู้แบบอาณานิคม” ของทวีศักดิ์ เผือกสม (สำนักพิมพ์สมมติ, 2560) และงานชุดดังกล่าวจำนวนหนึ่งยังได้รับคัดเลือกทะยอยพิมพ์ออกมาโดยสำนักพิมพ์อิลูมิเนชั่น

หน่วยวิจัยพยายามพัฒนาบรรยากาศทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ พ.ศ.2559 เป็นต้นมา ก็ได้จัดโครงการบรรยายพิเศษเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2560-2561 ได้จัดบรรยายพิเศษชุด “ญาณวิทยาของประวัติศาสตร์” ซึ่งมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายทั้งสิ้น 18 คน อีกทั้ง โครงการดังกล่าวยังได้รับการพัฒนาเป็นชุดโครงการวิจัยเรื่อง “วิธีวิทยาในการศึกษาประวัติศาสตร์” โดยคัดเลือกผู้บรรยายจำนวนหนึ่งมาร่วมโครงการ เพื่อขอทุนสนับสนุนจากฝ่ายมนุษยศาสตร์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

หลังจากที่หลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาได้เปิดดำเนินการมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง งานวิจัยของนิสิตระดับปริญญาโท-เอกส่วนมากยังมุ่งเน้นอยู่ในอาณาบริเวณประเทศไทย และมีน้อยชิ้นที่สนใจข้ามไปศึกษาประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างจริงจัง ในอนาคตอันใกล้นี้ หน่วยวิจัยกำลังพยายามผลักดันให้มีการวิจัยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านโดยตรงให้มากยิ่งขึ้น เริ่มตั้งแต่การหาทุนสนับสนุนการเรียนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของนิสิต โดยการส่งเสริมให้อาจารย์กับนิสิตสมัครทุนในโครงการทุนมหาบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสมัครทุนในโครงการกาญจนาภิเษก (คปก.) โดยสำหรับทุนระดับมหาบัณฑิตนั้น นิสิตในหลักสูตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ได้รับการจัดสรรทุนให้อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ส่วนสำหรับระดับปริญญาเอกนั้น ในปีการศึกษา 2561 หน่วยวิจัยได้รับทุน คปก. จำนวน 1 ทุน อีกทั้งยังมีโอกาสผลักดันให้ได้รับทุนสนับสนุนมากยิ่งขึ้นในอนาคต