
“คณะสังคมศาสตร์ ม.นเรศวร เปิดเวทีแลกเปลี่ยนมรดกไทยในภาคเหนือตอนล่างสู่มรดกมนุษยชาติและมรดกโลก”
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดโครงการมรดกไทยในภาคเหนือตอนล่างสู่มรดกมนุษยชาติและมรดกโลก : กรณีต้นแบบสุขนาฏกรรม “ลิเก” ในระหว่างวันที่ 22 – 25 เมษายน 2568 ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะการแสดงลิเกในฐานะมรดกวัฒนธรรมที่มีรากฐานลึกซึ้งในสังคมภาคเหนือตอนล่างของไทย โดยมุ่งเน้นการรวบรวมองค์ความรู้ การวิเคราะห์บริบททางสังคม ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับลิเก ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ระหว่างนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรม ผู้แสดงลิเก และชุมชนท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักรู้และคุณค่าร่วมกันในการอนุรักษ์และพัฒนาลิเกให้ดำรงอยู่ในสังคมร่วมสมัยอย่างสร้างสรรค์ ทั้งยังมุ่งหวังให้ลิเกเป็นต้นแบบสุขนาฏกรรมที่สามารถยกระดับสู่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติและของมนุษยชาติในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์กลางทางวิชาการที่เชื่อมโยงองค์ความรู้กับการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
โดยกิจกรรมในวันที่สาม (24 เมษายน 2568) เป็นกิจกรรมการบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อ
• “ปริทรรศน์มรดกโลกและมรดกภูมิปัญญามนุษยชาติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
โดย อาจารย์ธราพงศ์ ศรีสุชาติ อดีตผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร
• “ก้าวที่ผ่านมา – ก้าวที่จะเป็นไป เพื่อนำมรดกไทยสู่มรดกโลกและมรดกมนุษยชาติ”
โดย ดร.อมรา ศรีสุชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี ที่ปรึกษากรมศิลปากร
• “โนรา นาฏกรรมภาคใต้: มรดกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก”
โดย ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (โนรา) และ นายวิระเดช ทองคำ ประธานสมาคมโนราบ้าน 168
และการเสวนา หัวข้อ “มรดกไทยในภาคเหนือตอนล่างกับการไปสู่การเป็นมรดกโลกและมรดกมนุษยชาติ”
โดย อาจารย์ธราพงศ์ ศรีสุชาติ, ดร.อมรา ศรีสุชาติ และ ผศ.ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์
ซึ่งจะช่วยให้คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมถึงผู้สนใจได้รับความรู้ความเข้าใจที่ครอบคลุมเกี่ยวกับมรดกโลกและมรดกภูมิปัญญามนุษยชาติทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกระบวนการและประสบการณ์ในการนำมรดกไทยไปสู่ระดับสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีศึกษาของ “โนรา” ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก จะได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญและศิลปินแห่งชาติโดยตรง ทำให้เกิดความตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของมรดกไทย และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการศึกษา การทำงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การสร้างความตระหนักในสังคม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและพัฒนาแหล่งมรดกในท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของมรดกไทยในภาคเหนือตอนล่างกับการก้าวไปสู่การเป็นมรดกโลกและมรดกมนุษยชาติ นอกจากนี้ การศึกษาแนวทางการดำเนินงานและการขึ้นทะเบียนโนราเป็นมรดกภูมิปัญญามนุษยชาติยังเป็นแบบอย่างที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับการพิจารณาและส่งเสริมศิลปะการแสดงพื้นบ้านอื่นๆ ของไทย เช่น “ลิเก” ให้สามารถเดินตามรอยและได้รับการเสนอชื่อเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในอนาคตได้อีกด้วย ทั้งนี้จัดขึ้น ณ ห้อง 309 อาคารปราบไตรจักร 2 มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
ภาพกิจกรรมทั้งหมด
ภาพกิจกรรมทั้งหมด