
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอผลการดำเนินงานครบรอบ 3 ปี สะท้อนความมุ่งมั่นสู่การเป็นกลไกขับเคลื่อนสังคมอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 1 อาคารคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภิสา ไวฑูรเกียรติ คณบดีคณะสังคมศาสตร์ ได้นำเสนอผลการบริหารงานในวาระที่ 2 ครบรอบ 3 ปี (29 มิถุนายน 2565 – 28 มิถุนายน 2568) ต่อคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานผู้บริหารระดับคณะหรือหน่วยงานที่เทียบเท่าคณะ กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.รุธิร์ พนมยงค์ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานกรรมการ
โดยการนำเสนอครั้งนี้เป็นการสื่อถึงความมุ่งมั่นของคณะสังคมศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็น “กลไกทางสังคมที่สำคัญในการขับเคลื่อนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างแท้จริง เพื่อการสร้างรากฐานที่มั่นคงของสังคมโลกาเทศาภิวัตน์ที่ยั่งยืน” ซึ่งถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและทันสมัย สอดคล้องกับบทบาทของสังคมศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ที่เน้นการบูรณาการองค์ความรู้เข้ากับการแก้ปัญหาสังคมในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระดับสากล
ภายใต้กรอบพันธกิจหลัก 5 ด้าน ได้แก่
1. การผลิตบัณฑิต คณะฯ ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยเฉพาะการจัดหลักสูตรที่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่ เช่น หลสาขาวิชาประชาคมโลกศึกษา โดยคณะฯ มุ่งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และทักษะของผู้เรียนให้สามารถดำรงอยู่ในโลกที่หลากหลายทางวัฒนธรรม เชื่อมโยงความคิดระดับท้องถิ่นกับระดับโลก มีจิตสำนึกพลเมืองดีในประชาคมโลก ตระหนักถึงความเป็นธรรมทางสังคม สิทธิมนุษยชน และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยเฉพาะผ่านหลักสูตรและกิจกรรมที่เปิดมุมมองสากล เช่น โครงการแลกเปลี่ยนวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ การศึกษาเชิงพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา และกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกับเครือข่าย
2. การวิจัย คณะฯ ส่งเสริมงานวิจัยที่เน้นผลกระทบเชิงสังคม โดยมีจุดเด่นในการศึกษาประเด็นร่วมสมัย เช่น แรงงานข้ามชาติ ประชากรผู้สูงวัย สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของชุมชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น รวมถึงการประยุกต์งานวิจัยเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะในระดับท้องถิ่นและภูมิภาค
3. การบริการวิชาการ คณะมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาสังคม เช่น โครงการบูรณาการเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชน การสนับสนุนท้องถิ่นผ่านการอบรมผู้นำชุมชน และการใช้ฐานข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อการวางแผนพัฒนาท้องถิ่นแบบยั่งยืน
4. การทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรม คณะฯ ให้ความสำคัญกับการสืบสานอัตลักษณ์ท้องถิ่น สนับสนุนการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมสมัย เปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้เยาวชนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรม
5. การบริหารจัดการองค์กร มีการปรับใช้แนวทางบริหารยุคใหม่ โดยเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เช่น ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการภายใน การพัฒนาบุคลากรตามแผนกลยุทธ์รายบุคคล และการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรแบบมีส่วนร่วม
ภายใต้การดำเนินงานเหล่านี้ คณะยังยึดมั่นใน ค่านิยมองค์กร ที่เป็นรากฐานสำคัญ ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคม ความมุ่งมั่นในความสำเร็จ ยึดมั่นในความดีและความถูกต้อง มีความเป็นมืออาชีพ และการทำงานเป็นทีมอย่างปรองดอง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมการทำงานที่หลอมรวมความหลากหลายของบุคลากรเข้าด้วยกันอย่างลงตัว การรายงานผลการดำเนินงานในครั้งนี้ ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าเชิงปริมาณและคุณภาพของภารกิจต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงแนวคิดการขับเคลื่อนองค์กรด้วยอุดมการณ์และความรับผิดชอบต่อสังคม ที่จะนำคณะสังคมศาสตร์ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางทางวิชาการเพื่อสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคต
















