สิทธิมนุษยชน-สารจากคณบดี ฉบับที่ 6

สิทธิมนุษยชน หมายความถึง หลักการทางคุณธรรม หรือบรรทัดฐานที่ช่วยสร้างมาตรฐานในการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ โดยทั่วไป สิทธิมนุษยชน ได้รับการคุ้มครองและปกป้องโดยกฏหมายทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ สิทธิมนุษยชน จึงเป็นรากฐานทางด้านสิทธิที่สำคัญ ที่ปัจเจกบุคคลทุกคนควรได้รับ ในฐานะที่เป็นมนุษย์ผู้หนึ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงความแตกต่างในด้านเชื้อชาติ ถิ่นที่อยู่ ภาษา ศาสนา ความเชื่อทางการเมือง ที่มาของชาติพันธุ์ หรือปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม หรือสถานภาพทางเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน จึงเป็นค่านิยมสากลที่คนในโลกมนุษย์ใช้และยึดถือร่วมกัน
หลักการและคำสอนทางด้านสิทธิมนุษยชน จึงเป็นสิ่งที่ได้รับการยึดถือและปฏิบัติในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วโลกมานานแล้ว และเป็นแนวคิดที่ได้รับการปรับปรุงพัฒนาและยึดถือปฏิบัติเรื่อยมา โดยมีปัญญาชนและนักคิด ตลอดจนนักทฤษฎีทางด้านการศึกษา ได้เสนอแนวคิดไว้มากมาย ตัวอย่างเช่น John Locke,Francis Hutcheson และ Jean-Jacques Burlamaqui และแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนดังกล่าว ได้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดวาทกรรมทางการเมืองในประเทศต่างๆมาโดยตลอด ดังพบในกรณีตัวอย่างของการปฏิวัติในสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส
          สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่า “เป็นมาตรฐานทั่วไปของความสำเร็จสำหรับทุกคนและทุกประเทศ ทุกบุคคลและองคาพยพของสังคม ในการปกปักรักษาปฏิญญานี้ไว้อย่างต่อเนื่อง โดยการมุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนและการศึกษา เพื่อส่งเสริมการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพตามหลักการนี้ และยึดถือเป็นมาตรการทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ในการส่งเสริมและรักษาสิทธิมนุษยชน โดยการยอมรับเป็นหลักการสากล และยึดถือปฏิบัติทั้งในหมู่ประชาชนของตัวเองประเทศและในหมู่ประชาชนในดินแดนภายใต้อำนาจของพวกเขา”
          ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้กำหนดแนวทางในการบรรลุเป้าหมายไว้ เพื่อให้ทุกประเทศในโลกได้ตระหนักว่า สิทธิมนุษยชนครอบคลุมถึงสิทธิต่างๆ ได้แก่ สิทธิตามหลักคุณธรรม สิทธิตามกฏหมาย และสิทธิของความเท่าเทียมกัน และครอบคลุมถึง หลักการพื้นฐานในการดำรงชีวิต ได้แก่ สิทธิในการได้รับปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร เสื้อผ้า ที่พัก และการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ บุคคลยังควรได้รับสิทธิในการรับความคุ้มครอง และความปลอดภัยในชีวิต อาทิ การป้องกันการจับกุมโดยพลการ เสรีภาพในการได้รับปฏิบัติ สิทธิที่จะไม่เป็นทาส สิทธิในการทำงาน การศึกษา และเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสวงหาความเพลิดเพลินเพื่อช่วยเพิ่มคุณภาพของชีวิต เช่น การพักผ่อนหย่อนใจ
          สิทธิมนุษยชน ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงวัฒนธรรมตามสมัยนิยม ดังนั้น สิทธิมนุษยชนจึงเป็นสาระที่มีความสำคัญ ซึ่งไม่ควรปรากฏเพียงในรูปของคำกล่าวที่เลื่อยลอยเพื่อเสนอแนวทางในการดำเนินชีวิต แต่สิทธิมนุษยชนควรเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งที่ถูกยึดถือ ในฐานะที่เป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนในสังคม โดยสรุป สิทธิมนุษยชน ควรเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับ การเป็นภาษาทางศีลธรรมสากล ที่พบโดยทั่วไปในหมู่นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ทางสังคมทุกระดับ
          ในกรณีของประเทศไทย ความคิดและจินตภาพที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ได้ถูกอภิปรายและกล่าวถึงโดยปัญญาชนและนักวิชาการมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น งานของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จิตร ภูมิศักดิ์ และปรีดี พนมยงค์ ในช่วงการปฏิวัติประชาชนในช่วง ค.ศ. 1971-1976 และอีกครั้งหนึ่งในกลุ่มนักวิชาการและปัญญาชนอาวุโส อาทิ นิธิ เอียวศรีวงศ์ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ธงชัย วินิจะกูล และชาญวิทย์ เกษตรศิริ ในช่วงวิกฤตการเมืองไทยในปี ค.ศ. 1992 และ 2006-2015
          คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ตระหนักในความสำคัญของ สิทธิมนุษยชน และถือเป็นแนวปฏิบัติ บรรทัดฐาน และค่านิยมทางคุณธรรมขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง ในฐานะคณบดี ดิฉันจะพยายามอย่างดีที่สุด เพื่อให้การออกแบบแนวนโยบายของคณะฯและการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ วางอยู่บนพื้นฐานของหลักการและแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งประกอบไปด้วยการให้ความสำคัญและการนำปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน 7 ประการมาใช้เป็นแนวทางการออกแบบนโยบายของคณะฯ ซึ่งได้แก่ 1) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการทุกรูปแบบในการเลือกปฏิบัติต่อสตรี (CEDAW); 2) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก; 3) กติการะหว่างประเทศของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR); 4) ข้อตกลงทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรมของสหประชาชาติระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ICESCR); 5) อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการทุกรูปแบบในการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ (CERD); 6) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและอื่น ๆ ที่โหดร้ายหรือย่ำยีด้วยการปฏิบัติการหรือการลงโทษ (CAT); และ 7) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD)
          โดยการนำหลักการดังกล่าวมาใช้ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบแนวนโยบายของคณะฯอย่างจริงจัง ดิฉันมีความเชื่อมั่นว่า คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จะแสดงให้เห็นถึงการเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูงที่มีความรับผิดชอบทั้งต่อคนในองค์กรและสังคมโดยรวม และด้วยแนวคิดดังกล่าว ดิฉันมีความเห็นว่าคณะฯของเราจะเป็นชุมชนสังคมศาสตร์ ที่มีรากฐานของหลักการและค่านิยมเรื่องความเป็นธรรม คุณธรรม สามารถนำเสนอสิ่งที่ดี และสภาพแวดล้อมที่มีความสุข ให้แก่คณาจารย์ บุคลากรและนิสิตของคณะฯ ตลอดจนผู้ที่เราต้องติดต่อสัมพันธ์ด้วย แม้ว่ามาตรฐานของสิ่งต่างๆเหล่านี้ จะห่างไกลเป็นที่สุดจากสภาพที่เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยรวมในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ดิฉันเห็นว่า วิกฤตการณ์ต่างๆรอบตัว ไม่ควรเป็นเหตุผลที่เราจะไม่สร้างให้ชุมชนวิชาการของเรา มีรากฐานที่มั่นคงด้านสิทธิมนุษยชน

รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร
คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

English Edition