การก่อตั้งสำนักคิดทฤษฎีและการปฏิบัติด้านสังคมศาสตร์-สารจากคณบดี ฉบับที่ 5

สังคมของเราถูกสร้างขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ทั้งหลาย คนเราทำสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน บางคนมุ่งค้นหาคำตอบให้กับสิ่งที่ท้าทายในชีวิตที่ตนเองต้องเผชิญ บางคนดูแลตัวเอง ครอบครัว และสังคมของพวกเขา คนแต่ละคนทำผิดพลาด ทำสิ่งต่างๆตามความลุ่มหลงของตนเอง เกลียดและรัก ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนฝูง คนแปลกหน้า และศัตรู ด้วยรูปแบบและวิธีการที่แตกต่างกันไป บางคนทำสิ่งต่างๆ ด้วยความระมัดระวัง ตามแรงดลใจและความฝันที่ตนเองมี

การกระทำสิ่งต่างๆ ข้างต้นของมนุษย์ ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับชาติ จนถึงระดับนานาชาติ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมมากมายที่เกิดขึ้น ทั้งด้านบวกและด้านลบจึงเป็นสิ่งที่มาพร้อมๆ กับความทันสมัย ผลลัพธ์เชิงบวก ได้แก่ การมีชีวิตที่ยาวนานขึ้น มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้น แต่ก็มีผลลัพธ์เชิงลบจำนวนมากที่ติดตามมากับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อาทิ ความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนโครงสร้างประชากร วิกฤตเศรษฐกิจ การก่อกำเนิดหรือการเสื่อมสลายของความเป็นเมืองต่างๆ ความไม่เท่าเทียมกัน การปฏิวัติ การกีดกันแบ่งแยก สงคราม และความยากจน

เพื่อแสดงคุณูปการต่อสังคม นักวิชาการในสถาบันระดับอุดมศึกษาทั่วโลกได้ร่วมกันกระทำการมากมาย เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้นเรื่อยมา “สำนักคิด” หรือ “การสรรค์สร้างประเพณีทางปัญญา” คือ รูปแบบหนึ่งของการรวมตัวกันของปัจเจกบุคคลและกลุ่มคน เพื่อแบ่งปันคุณลักษณะสามัญบางประการร่วมกัน และแสดงมโนทัศน์หรือมุมมองที่แตกต่าง ซึ่งเกิดจากการได้รับอิทธิพลจากปัจจัยและประสบการณ์การฝึกอบรมที่แตกต่างหลากหลาย อาทิ ด้านปรัชญา ศาสตร์ ความเชื่อ เศรษฐานะ ประวัติศาสตร์ประชากร การเมืองการปกครอง และการเคลื่อนไหวทางสังคมวัฒนธรรม

กลุ่มนักวิชาการเหล่านี้ มักเริ่มจากการเกาะเกี่ยวกันของปัจเจกบุคคลจำนวนหนึ่ง หรือกลุ่มขนาดเล็กแบบไม่เป็นทางการ ภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตร เช่น กลุ่มดื่มน้ำชา กลุ่มรับประทานอาหารกลางวัน และกลุ่มอ่านหนังสือ โดยกลุ่มเหล่านี้อาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำในระดับท้องถิ่น ที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่บางครั้งพวกเขาก็สามารถก้าวล่วงสู่การกระทำที่สร้างความแตกต่างหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับมหภาคได้

สมาชิกของ “สำนักคิด” อาจเริ่มจากการตั้งคำถามที่พื้นๆ ที่สุด เช่น อะไรคือเป้าหมายและแผนของปัจเจกบุคคลที่ทำหน้าที่หลอมรวมจัดรูปปรากฏการณ์ทางสังคมหนึ่งๆ? ทำไมปัญหาต่างๆ จึงก่อตัวขึ้น ณ ช่วงเวลานั้นๆ หรือบริบทหนึ่งๆ? การพัฒนาของสังคมที่ทันสมัย เพิ่มความไม่เท่าเทียมจำนวนมหาศาลขึ้น

ในความมั่งมีของพลเมืองหรือไม่? และยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ต่อไปหรือไม่? มนุษยชาติจะสามารถใช้เหตุผลเพื่อทำให้สังคมโลกที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบันดีขึ้นได้หรือไม่?

ในช่วงศตวรรษที่ 19 หรือในปี ค.ศ. 1895 Emile Durkheim ได้บุกเบิกก่อตั้งสำนักคิดด้านสังคมวิทยาขึ้นที่ University of Bordeaux และได้ผลิตผลงานวิชาการจำนวนมาก อาทิ Rules of the Sociological Method ต่อมาในปี ค.ศ. 1896 เขาก็ได้ก่อตั้งวารสารชื่อ L’Année Sociologique ขึ้น และในช่วงศตวรรษที่ผ่านมาพบว่า “สำนักคิด” จำนวนมากได้ก่อกำเนิดขึ้นภายใต้ทฤษฎีสังคมวิทยาการพัฒนาและนักคิดกลุ่มอื่นๆ อาทิ Auguste Comte ได้ให้คุณูปการเชิงทฤษฎีแก่สังคม เช่น แนวคิดปฏิฐานนิยม ที่พยายามจะค้นพบความเป็นจริงทาง “วัตถุ” โดยอาศัยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนามของสำนักคิดปฏิฐานนิยมด้วยเช่นเดียวกัน Karl Marx ปฏิเสธแนวคิดของ Comte และได้ก่อตั้ง “วิทยาศาสตร์ของสังคม” ขึ้น บนพื้นฐานของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ หลังการตายของเขา Marx ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักคิดคนสำคัญที่ก่อตั้งองค์ความรู้ด้านสังคมวิทยา ต่อมาในศตวรรษที่ 20 นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน อาทิ Max Weber, Georg Simmel ได้ก่อตั้งสำนักคิดที่ต่อต้านแนวคิดแบบปฏิฐานนิยมขึ้น และในช่วงทศวรรษที่ 1920 “สำนักชิคาโก” ได้ถูกก่อตั้งขึ้น ผ่านการทำงานของนักวิชาการจำนวนมาก อาทิ Albion Woodbury Small, W. I. Thomas, Ernest W. Burgess, Robert E. Park, Ellsworth Faris โดยสำนักคิดนี้สนใจศึกษารูปแบบและการจัดการของปรากฏการณ์ทางสังคมผ่านช่วงเวลาและพื้นที่ ตลอดจนบริบทของตัวแปรทางสังคมจำนวนมาก ต่อมา The Frankfurt Institute for Social Research ก็แสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของความสำเร็จ ที่ปรากฏขึ้นจากการก่อกำเนิดของ “สำนักคิด” จนในที่สุดนำมาซึ่งการก่อตั้งคณะกรรมการสำนักคิดทางสังคมในช่วงทศวรรษที่ 1940 ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1970 สำนักคิดทางสังคมและการเมืองก็ได้ก่อกำเนิดขึ้นอีกเช่นกันที่มหาวิทยาลัย Sussex และ York

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การศึกษาด้านวิกฤตการณ์ทางการเมืองการปกครองของประเทศไทย ได้มอบคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้แก่สังคม ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมทางวิชาการ และต่อสังคมในภาพรวม การที่สังคมมนุษย์เป็นหน่วยที่มีพลวัตสูงและการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว การเป็นนักวิชาการให้มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดความต้องการที่จะขยายความเป็นนามธรรมเหล่านี้ ไปสู่การปฏิบัติ ที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และความร่วมมือกับองค์กรที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการต่างๆ

ด้วยเงื่อนไขทางการเมืองและลักษณะเชิงโครงสร้าง ตลอดจนข้อจำกัดมากมายเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทายพวกเราทั้งหลายในฐานะที่เป็นนักวิชาการ ในการทำความเข้าใจกับสิ่งต่างๆ และ “ความจริง” เหล่านี้ให้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การมีความเข้าใจในสังคมเพิ่มมากขึ้น ช่วยให้พวกเราสามารถให้คำแนะนำในเชิงปฏิบัติการที่เหมาะสมกับบริบทของสถานการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้นตามความเป็นจริงที่ปรากฏ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแทรกอยู่ในความคิดและการกระทำของพวกเราเหล่านักวิชาการทั้งสิ้น

ดิฉันต้องการส่งสารที่ชัดเจนและเรียบง่ายถึงบรรดานักปราชญ์ด้านสังคมศาสตร์ทั้งหลายว่า “เราคงไม่สามารถปล่อยให้ข้อโต้แย้งของเรา ในส่วนที่เกี่ยวกับการก่อเกิดขึ้นของมูลเหตุปัจจัยในระดับมัชฌิมภาค และโครงสร้างของอำนาจต่างๆ นำพาเราไป จนหลงลืมความเป็นจริงที่ชัดแจ้งซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนในระดับพื้นฐานได้”

ในนามของคณะสังคมศาสตร์ ดิฉันจึงรู้สึกภาคภูมิใจในการที่จะตอบสนองและสนับสนุนต่อความจริงในสภาวะปัจจุบัน โดยการหลอมรวมกันเพื่อก่อตั้ง “สำนักคิดและการปฏิบัติทางสังคม” ขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งผ่านความคิดเชิงทฤษฎีที่ลุ่มลึก และการประยุกต์ใช้ทั้งในระดับของคณะ มหาวิทยาลัย และในสังคมนักวิชาการสู่สังคมภายนอก เพื่อให้คณะสังคมศาสตร์ของเราเป็น “บ้านแห่งนวัตกรรมสังคมที่ดีที่สุด” พร้อมๆกับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานทางวิชาการระดับสูง

ดังนั้น จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับนิสิต คณาจารย์ และบุคลากรสายสนับสนุนทุกคน ในการตระหนักว่า การที่เราจะเริ่มสร้างคณะฯ ของเราให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ เพื่อบริหารจัดการ “ความจริง” ในสังคมที่วางอยู่บนพื้นฐานของการวิจัยและผลลัพธ์ที่เกิดจากการค้นคว้าอย่างเป็นระบบ

ในฐานะคณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ดิฉันขอสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการเพื่อการเรียนรู้ และขอเชื้อเชิญให้ทุกท่านที่สนใจ เข้ามาร่วมในกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์นี้ เพื่อให้เราทุกคนมีโอกาสในการร่วมสนุกในฐานะที่เป็นกลุ่มของนักวิทยาศาสตร์สังคมรุ่นแรกๆ ของคณะฯ ที่ร่วมกันบุกเบิกและก่อกำเนิด “สำนักคิดทางสังคมศาสตร์” ให้ปรากฏต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรินทร์ สิรสุนทร
คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

English Edition