ดูหนังผี เข้าใจคน ผ่านภาพยนตร์อาเซียน

ขึ้นชื่อว่า “ผี” ใครๆ ก็กลัว แต่ถ้าพูดถึงหนังผีคนกลัวผีหลายคนกลับชอบดู ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภาพยนตร์สยองขวัญจากอาเซียนโด่งดังหลายเรื่อง

เมื่อพูดถึงความสำเร็จของหนังผีอาเซียน หนีไม่พ้นหนังสามเรื่องจากสามประเทศคือ บ่มีวันจาก (The Long Walk) ภาพยนตร์ลาวของ Mattie Do ออกฉายเมื่อปี 2562, Roh (Soul) ภาพยนตร์มาเลเซียกำกับโดย Emir Ezwan ออกฉายในปีเดียวกัน และภาพยนตร์ไทย “ร่างทรง” ของบรรจง ปิสัญธนะกูล ลงโรงเมื่อปีที่ผ่านมา

เมื่อหนังผีอาเซียนประสบความสำเร็จขนาดนี้ ไม่กี่วันก่อนคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ร่วมจัดเสวนาออนไลน์ “ดูหนังผี เข้าใจคน ผ่านภาพยนตร์อาเซียน (Reading ASEAN through Ghost Films)” ฉายภาพหนังผีอาเซียนให้คนดูได้เข้าใจมากขึ้น

“คนเราไม่ว่าเจนไหนอายุเท่าไหร่ต้องเคยดูหนังผีกันแน่ๆ อย่างน้อยต้องห้าเรื่องในชีวิต หนังผีอยู่ในพื้นที่สื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนานมาก ยิ่ง The Ring ภาพยนตร์ญี่ปุ่นดังไปทั่วโลก ยิ่งเพิ่มความปังให้กับหนังผีจากเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หนังผีเป็นตัวแทนสองสิ่งสำคัญในชีวิตมนุษย์คือ ความกลัวและความตาย” ดร.อาทิตย์ พงษ์พานิช เปิดฉากการสนทนา ตามด้วย อนิไส แก้วลา (Anysay Keola) ผู้กำกับ ตัดต่อ เขียนบท ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์จากลาว เล่าถึงการดูหนังผีในประเทศเพื่อนบ้านของไทย

“ดูจากวัฒนธรรมภาษาลาวกับภาษาไทยไม่ได้แตกต่างกัน ถ้าหนังแบบไหนที่คนไทยนิยมก็นิยมในลาวด้วย หนังที่ทำเงินในลาวก็มีหนังโรแมนติก หนังตลก และหนังผี ไม่ต่างจากประเทศไทย หนังผีดังมาก ที่ทำเงินสูงสุดเป็นหนังผีตลก ทำรายได้ถึง 4 ล้านบาท อาจดูว่าเล็กน้อยแต่ถ้าเทียบกับตลาดภาพยนตร์ลาวถือว่าเยอะมาก ประสบความสำเร็จสูง ส่วนหนังต่างประเทศที่ทำเงินก็คือหนังมาร์เวล”

อนิไสเล่าต่อว่า ความเชื่อเรื่องผีของคนลาวเหมือนคนไทยมักเป็น passive interact เราเป็นคนรับสารจากผี เช่น ได้ยินเสียงแว่วๆ ได้กลิ่นแปลกๆ ฝันว่าเขาอยากให้ทำโน่นทำนี่ ผีเป็นเรื่องที่จับต้องไม่ได้ ไม่มาโต้ตอบกันเหมือนในหนัง The Long Walk

“นี่คือเหตุผลว่าทำไมคนลาวถึงกลัวหนังผีไทยมาก เพราะวัฒนธรรมใกล้กัน เราบอกว่าเราเป็นประเทศพุทธเหมือนกัน แต่วิธีปฏิบัติเป็น animism (วิญญาณนิยม) เยอะ ปนกันจนแยกไม่ออก”

จากลาวข้ามไปสู่เพื่อนบ้านทางตอนใต้ ชง ลี โยว (Chong Lee Yow) จากคณะศิลปะประยุกต์และสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยมาเลเซียซาราวัค กล่าวถึงตลาดภาพยนตร์โดยรวมของมาเลเซียว่า หนังทำเงิน 50 อันดับแรก เป็นหนังแอคชัน 15 เรื่อง หนังผี 8 เรื่อง หนังชีวิต 10 เรื่อง ตลก 12 เรื่อง แอนิเมชัน 5 เรื่อง ในหนังผี 8 เรื่อง มี 4 เรื่องที่ทำเงินมากกว่า 10 ล้านริงกิต หรือประมาณ 80 ล้านบาท ในท็อปไฟว์หนังทำเงินอันดับหนึ่งเป็นหนังผี ทำเงิน 38 ล้านริงกิต อันดับสองเป็นหนังผีตลก โดยรวมคนมาเลเซียก็ชอบดูหนังผี แต่หนังแอคชันมาร์เวลก็ครองตลาดอยู่ดี

นักวิชาการรายนี้ยกตัวอย่างความเชื่อเรื่องผีในมาเลเซีย เช่น เมื่อมีข่าวเด็กอายุ 15 หายตัวไปต้องใช้ร่างทรงช่วยหา หรืออุบัติเหตุเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ MH370 หายไปอย่างไร้ร่องรอยก็มีข่าวว่ามาเลเซียใช้การกำจัดผีร้ายเพื่อให้เจ้าหน้าที่หาเครื่องบินได้ สะท้อนว่าแม้เป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่เบื้องลึกก็ยังมีความเชื่อคล้ายกับไทย “คนมาเลเซียอาจประกาศตัวเองในพื้นที่สาธารณะว่าเป็นมุสลิมที่เคร่ง แต่ในพื้นที่ส่วนตัวอาจแฝงไปด้วยความเชื่อเกี่ยวกับภูติผี”

ด้านราเชล วี แฮร์ริสัน จากสำนักภาษา วัฒนธรรม และภาษาศาสตร์ วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน ผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ไทย และวัฒนธรรมไทยศึกษา ชาวตะวันตกคนเดียวของเวที ยอมรับว่า สนใจหนังผีไทยเพราะในสายตาคนต่างชาติประเทศไทยนับถือศาสนาพุทธ เลยแปลกใจว่าทำไมคนไทยชอบดูหนังผีทั้งๆ ที่ศาสนาพุทธไม่เกี่ยวกับผี

ราเชลเล่าต่อว่า หนังผีเมนสตรีมจากอาเซียนเมื่อไปฉายในยุโรปไม่ได้ฉายในโรงทั่วไป ได้ฉายเฉพาะในงานเทศกาล เช่น London Film Festival หนังไทยที่ไปฉายโรงทั่วไปคือหนังของอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล (แต่ในไทยหนังอภิชาตพงศ์ฉายในโรงเฉพาะ) เธอได้ดูนางนากในปี 2542 ซึ่งได้รับความนิยมมาก หลังจากนั้นมีหนังผีอาเซียนไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ลอนดอนทุกปี เมื่อจบเทศกาลภาพยนตร์เหล่านั้นถูกจับลงแผ่น และโฆษณาว่าเป็น Asian Extreme (รวมญี่ปุ่น เกาหลี จีน)

“เหมือนฝรั่งมองเอเชียว่าเป็นความรุนแรง ซึ่งการตั้งชื่อต้องคุยกันต่อไป” นักวิชาการจากอังกฤษให้ความเห็น

ดร.นันทนุช อุดมละมุล จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผีคืออดีตที่ตามหลอกหลอน ไม่ยอมจากไป อดีตที่ล่องลอยอยู่รอบตัวเรา บางครั้งเป็นอดีตที่เราไม่อยากจำหรือเป็นความทรงจำที่ถูกกกดทับ เป็นประวัติศาสตร์ของคนที่ถูกกระทำ ผีเหมือนการสะท้อนเสียงนั้นให้เราเห็นว่ามีตัวตนอยู่ ผีคืออดีตที่มาขัดจังหวะความปกติของปัจจุบันที่ดำเนินไปไม่ได้ถ้าไม่ปราบผีเสียก่อน

นั่นคือมุมมองที่นักวิชาการมีต่อหนังผีอาเซียน สำหรับผู้เขียนมองว่า แม้คนส่วนใหญ่จะกลัวผี แต่แท้จริงแล้วก่อนจะเป็นผีคนเราต้องตายก่อน ความตายเป็นสิ่งที่มนุษย์หนีไม่พ้น และแม้ศาสนาไม่ได้บัญญัติเรื่องเหนือธรรมชาติแบบนี้ไว้ แต่ทุกวัฒนธรรมล้วนมีความเชื่อและกลัวผี เพราะอย่างน้อยๆ เราทุกคนล้วนกลัวตายเหมือนๆ กัน

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
https://bit.ly/3CzuJM7

รับชมการเสวนาย้อนหลังได้ที่
https://bit.ly/3JaqLMM