นิธิ เอียวศรีวงศ์ “วิพากษ์มนุษยศาสตร์/มนุษยศาสตร์วิพากษ์: น้ำยามนุษยศาสตร์ในสังคมไทย”

ขอขอบคุณแหล่งที่มา: เว็บไซต์ประชาธรรม, วันที่ 27 สิงหาคม 2558 - 19:13 น.

วันที่ 27 สิงหาคม 2558 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร  และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย จัดประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 9 “ปัญญาชน ศีลธรรม และภาวะสมัยใหม่: เสียงของมนุษยศาสตร์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้?”  ณ อาคารเอกาทศรถ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก

ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ ปฐกถาในหัวข้อเรื่อง “วิพากษ์มนุษยศาสตร์/มนุษยศาสตร์วิพากษ์: น้ำยามนุษยศาสตร์ในสังคมไทย” ว่า…

เวลาพูดถึงนิยามความหมายของมนุษย์ศาสตร์ เรานิยามไม่ค่อยชัดว่ามนุษยศาสตร์คืออะไร และคิดว่าความไม่ชัดเจนนี้ไม่ได้มีแค่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่มีทั้งโลก องค์การสหประชาชาติ หรือองค์การที่ขึ้นอยู่กับสหประชาชาติอย่างยูเนสโก ก็นิยามที่เนื้อหา เช่น เอาประวัติศาสตร์ และโบราณคดีมาพิจารณาเพื่อบอกว่าเป็นหรือไม่เป็น ซึ่งถ้าอ่านงานของอาจารย์ชูศักดิ์จะพบว่า เป็นวิธีการวิทยาศาสตร์  ที่อื่นๆก็เช่นกัน กฎหมายประเทศสหรัฐในการตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษามนุษยศาสตร์ ก็จะพบว่าเหมือนกัน คือ นิยามด้วยเนื้อหา

ในประเทศไทย มหาวิทยาลัยก็นิยามมนุษยศาสตร์ด้วยเนื้อหาวิชา จัดหมวดหมู่คณะตามนั้นตลอดมา ซึ่งตนเห็นว่า การนิยามมนุษยศาสตร์ด้วยเนื้อหาวิชามีปัญหาหลายประการ แต่ในที่นี้จะขอยกให้เห็นถึงปัญหาเดียว

คงจำกันได้ว่า เนื้อหาวิชาที่เรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า “มนุษยศาสตร์” สมัยหนึ่งเขาใช้เป็นวิชาสอนคนที่จะเป็นผู้ปกครองคนอื่นๆ เช่น ในเมืองเมืองไทย พระเจ้าแผ่นดินต้องมีพระราชนิพนธ์ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม เพื่อแสดงความเหนือกว่าบุคคลทั่วไปในทางมนุษยศาสตร์ ในมุมฝรั่งก็เช่นกัน แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา (จริงๆก่อนสงครามโลกครั้งที่สองมีคนบอกว่าในอเมริกา ถ้าเป็นนักฟิสิกส์จะหางานทำยากกว่านักปรัชญา) โลกมันเปลี่ยนไป เปลี่ยนไปในแง่ที่ว่าเราเริ่มคิดถึงความรู้ และประโยชน์ของความรู้ในแง่การใช้สอย ไม่ใช่เพื่อรู้เฉยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ

ในสมัยหนึ่งมีการนำเอาวิชาที่จัดว่าเป็นวิชามนุษยศาสตร์ในปัจจุบันไปสอนด้วยความหวังว่า มันเป็นความรู้ที่จำเป็นของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ปัจจุบันถามว่ามนุษยศาสตร์ยังมีความจำเป็นในการสร้างพลเมืองหรือไม่ โดยส่วนตัวคิดว่าน้อยลง หรือแม้แต่ถามมหาวิทยาลัยว่า ปัจจุบันมีหน้าที่ผลิตพลเมืองของประชาธิปไตย หรือผลิตคนงานที่มีฝีมือของโรงงานอุตสาหกรรม ตนคิดว่าประเทศส่วนใหญ่จะตอบว่า เราผลิตแรงงานไม่ได้ผลิตพลเมืองของระบอบประชาธิปไตยอีกต่อไป เหตุดังนั้นเมื่อเน้นประโยชน์ใช้สอย วิชามนุษยศาสตร์จึงหมดความหมาย ไร้ความสำคัญโดยสิ้นเชิง

มนุษยศาสตร์ไม่ใช่เนื้อหาแต่คือวิธีคิดอย่างหนึ่ง อันที่จริงแล้วไม่ใช่แค่มนุษยศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็ไม่ใช่เนื้อหาเพราะมันก็เป็นวิธีคิดแบบหนึ่ง เป็นวิธีคิดที่จะปฏิรูปความจริงอย่างหนึ่ง มนุษยศาสตร์ก็เป็นวิธีคิดที่บรรลุความจริงอีกอย่างหนึ่งใน

โลกปัจจุบันเราถูกครอบงำความคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ในเชิงเนื้อหาที่ว่าทุกอย่างเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะ แต่เป็นเรื่องอื่นๆ ที่ถูกคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ อย่างเช่น เรื่องพระนเรศวรคือ คิดในเชิงข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น วิทยาศาสตร์ก็เป็นวิธีคิด และมนุษยศาสตร์เป็นวิธีคิด

ยิ่งไปกว่านั้นตนคิดว่า การที่จะบรรลุความจริงได้จะต้องอาศัยทั้งวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว วิธีการทางวิทยาศาสตร์ก็หนีไม่พ้นวิธีคิดแบบมนุษยศาสตร์

“ผมสรุปว่า วิธีคิดแบบนุษยศาสตร์ คือ การคิดด้วยความรู้สึก ในโลกปัจจุบันถ้าเราบอกว่าเราคิดด้วยความรู้สึกคนทั่วไปอาจจะมองว่าเป็นบ้า เพราะความรู้สึกไม่นำไปสู่ความจริงอะไรเลย แต่ผมคิดว่าความรู้สึกเป็นพื้นฐานในการทำให้มองเห็นมิติอะไรบางอย่างในความจริงที่คนไม่ได้มีความรู้สึกมองไม่เห็น”

ยกตัวอย่างจากงานศึกษาจริงๆ เช่น  หนังสือเรื่อง Year Zero: A History of 1945 ของ Ian Buruma ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ วรรณคดี รู้ภาษามาก ทั้งภาษายุโรปและภาษาในเอเชีย โดยเฉพาะภาษาญี่ปุ่น เขาเขียนหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ว่ามันเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่เผชิญกับภัยพิบัติที่มนุษย์กระทำต่อกันอย่างทารุณโหดร้ายเป็นเวลาหกปีในเกือบทั่วทุกดินแดนในโลกนี้ แล้วเราจะกลับมามีชีวิตต่อไปได้อย่างไร

เขาพูดถึงญี่ปุ่นที่โดนระเบิด ผู้คนไม่มีจะกิน ทหารที่พ่ายแพ้สงครามถูกส่งกลับมาประเทศตัวเอง ในเขตชนบทมีการกลับมาทำนา แม้ไม่ได้ขายใครแต่ก็ยังมีกิน แต่ในเขตเมือง ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ถูกทำให้กลายเป็นเมืองเร็วกว่าประเทศอื่นๆในเอเซีย มีคนที่อยู่ในเมืองเป็นจำนวนมากรวมทั้งทหารด้วย

ทหารแพ้สงครามเป็นเรื่องปกติ ถ้ารู้สึกให้มากลงไปกว่านั้น ทหารพวกนั้นอาจจะเป็นชาวนามาก่อน แต่หลังการปฏิรูปเมจิ มีการนำอุดมคติของซามูไรยัดให้กับชาวนาผ่านระบบการศึกษา โฆษณาชวนเชื่อ ทหารญี่ปุ่นที่ไปรบที่อื่นๆจะมีจิตใจเดียวกับซามูไร ดังนั้นจึงไม่ใช่ทหารแพ้สงคราม แต่คือ ซามูไรแพ้สงคราม ซึ่งซามูไรที่แพ้ศึกต้องฆ่าตัวตายถึงจะสมกับการเป็นซามูไร แต่ในชีวิตจริงจะฆ่าตัวตายได้สักกี่คน คำตอบก็คือ ส่วนใหญ่ทหารญี่ปุ่นที่แพ้สงครามก็ต้องกลับมาเป็นซามูไรที่ไม่กล้าฆ่าตัวตาย ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องประหลาดแต่อย่างใด เพราะการฆ่าตัวตายไม่ได้เป็นเรื่องง่ายดาย ทั้งหมดที่กล่าวมามันเป็นความรู้สึกหมด เริ่มจากความรู้สึกเข้าใจในความพ่ายแพ้ของคนที่ถูกเลี้ยงดูมาให้เป็นซามูไร

คนเหล่านี้เมื่อกลับถึงบ้านต้องเจอปัญหาไม่รู้จะหาอะไรกิน เพราะว่าไม่มีงานให้ทำ ในเมืองไม่มีนาให้ปลูก ไม่มีเกษตรให้ทำ แต่ต้องเลี้ยงดูครอบครัว แต่พออเมริกาเข้ามายึดครอง คนที่จะหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว คือ ผู้หญิง  โดยการเข้าไปสนิทสนมกับทหารอเมริกัน จะสนิทระดับไหนไม่ทราบแต่เป็นช่องทางที่ได้มาช็อกโกแลตตลอดจนอาหาร ผู้หญิงจึงกลายเป็นคนเลี้ยงดูครอบครัว

“ซามูไรแพ้สงครามที่ไม่กล้าฆ่าตัวตาย จะรู้สึกอย่างไร เมื่อสมัยหนึ่งผู้หญิงไม่ได้มีความหมายถึงขนาดนั้น แต่บัดนี้ผู้หญิงคือคนที่เลี้ยงดูเราได้ ทั้งหมดเหล่านี้เริ่มต้นจากความรู้สึกก่อน ซึ่งผมคิดว่านี่คือ วิธีคิดแบบมนุษยศาสตร์ แต่ถ้าเรารู้สึกเฉยแบบนี้ เขียนหนังสือไม่ได้ บรรลุความจริงอะไรไม่ได้  ใช้แต่ความรู้สึกอย่างเดียวก็เป็นบ้าเท่านั้นเอง ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง เขาจึงใช้ความรู้สึกเหล่านั้นเป็นตัวตั้ง มองหา มองเข้าไปเจอมิติที่นักประวัติศาสตร์หลังสงครามไม่เคยสนใจมาก่อน โดยการเข้าไปดูกวีนิพนธ์บ้าง บทความในหน้าหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นเมื่อตอนแพ้สงคราม ดูนวนิยาย เรื่องสั้น ว่าสิ่งเหล่านี้สะท้อนความรู้สึกของซามูไรที่พ่ายอย่างไร”

ตนชอบหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เพราะว่าหนังสือเล่มนี้บรรยายฉากหลังสงครามได้ดีที่สุด แต่เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องจากจุดเริ่มต้นที่เป็นความรู้สึก แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือเริ่มต้นด้วยวิธีคิดแบบมนุษยศาสตร์ และพอได้ปัญหาแล้วก็ตอบด้วยวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ ไม่ได้แยกสองอย่างออกจากกัน

ประเทศที่ชนะสงคราม มีผู้หญิงพวกหนึ่งที่เคยนอนกับทหารนาซี รัฐบาลที่เข้ามาปกครองหลังนาซีแพ้ก็ไม่ได้ลงโทษผู้หญิงเหล่านั้น แต่ผู้หญิงเหล่านั้นจะถูกผู้หญิงด้วยกันเองไปฉุดกระชากมาโกนผม กระทืบ ตบหน้าหรืออะไรก็ตามแต่ บางคนถึงกับเสียชีวิตก็มี คำถามคือ มันเกิดอะไรขึ้น เพราะหลังสงครามทุกอย่างมันจบแล้ว ทำไมไม่เริ่มต้นชีวิต ทำมาหากิน มาสนใจอะไรกับผู้หญิงเหล่านี้  คำตอบของบูรูม่าที่ไปค้นมาจากบันทึก วรรณคดี ฯลฯ ในฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สิ่งที่เขาค้นพบอย่างหนึ่ง คือ ความอิจฉา ความรู้สึกอิจฉาของมนุษย์รุนแรงมากคือ ครั้งหนึ่ง ผู้หญิงเหล่านี้ได้นอนอย่างอบอุ่นในขณะที่เรานอนหนาว ได้กินซ๊อกโกแลตในขณะที่ท้องเรายังหาอะไรกินไม่ได้ มันเป็นความอิจฉาที่ระบายได้โดยการต้องทำร้ายเหยื่อที่ทำให้รู้สึกอิจฉา

เขาตอบปัญหาเหล่านี้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่เริ่มต้นด้วยความรู้สึกก่อนว่าอะไรทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้น และมาเริ่มเข้าใจในเรื่องของความอิจฉาริษยา ซึ่งมันเป็นอะไรที่ธรรมดาสำหรับมนุษย์มากๆ

ทั้งหมดเหล่านี้มันสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิดในเชิงมนุษยศาสตร์ ซึ่งในทัศนะตนมีความสำคัญในการบรรลุความจริง

ในทางวิทยาศาสตร์ เราใช้วิธีคิดเชิงมนุษยศาสตร์ในการสร้างภาพจำลองของโลก เช่นหลังจากสมัยนิวตัน เป็นต้นมา เรารู้สึกว่าโลกต้องมีระเบียบอะไรอันหนึ่ง นิวตันบอกแต่เพียงระเบียบของการเคลื่อนที่ของเคหวัตถุ แต่เราใช้มากกว่าระเบียบการเคลื่อนที่ของเคหวัตถุ คือเอามาใช้เป็นระเบียบการสร้างของสิ่งอื่นๆเต็มไปหมด ซึ่งในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้เชื่อแบบนั้นแล้ว ซึ่งคำถามคือ ระเบียบเหล่านี้มาได้อย่างไร คำตอบของตน คือ มาจากความคิดเชิงมนุษยศาสตร์ คือมันไม่ได้มาจากการทดลองจริงๆในห้องแลปว่ามันมีระเบียบอันหนึ่งที่ครอบงำโลกอยู่ มันมาจากที่วิธีคิดความรู้สึกที่ว่ามันต้องมีระเบียบ

“ถ้านิวตันเป็นคนไทย อาจจะไม่เกิดความคิดเรื่องระเบียบ เพราะความคิดเรื่องระเบียบสัมพันธ์กับความคิดเรื่องพระเจ้า คือถ้าไม่มีพระเจ้าก็จะไม่มีระเบียบที่จะครอบงำทั้งหมด”

นักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่นิวตันมาจนถึงอัลเบิร์ตไอน์สไตน์ ถ้าไม่มีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องระเบียบอะไรบางอย่าง จะทำงานอย่างนี้ได้หรือไม่ ตนว่าไม่ได้ ดังนั้นในวิทยาศาสตร์ต้องอาศัยความคิดเชิงมนุษยศาสตร์เข้าไปในนั้น เช่นเดียวกับมนุษยศาสตร์ก็ต้องอาศัยวิธีคิดเชิงวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเพื่อบรรลุความจริง

เมื่อพูดถึงความรู้สึกอยากเตือนไว้ด้วยว่า หนึ่ง เราคิดด้วยความรู้สึกเฉยๆไม่ได้ ต้องอาศัยวิธีคิดในเชิงอื่นๆด้วย

สอง ความรู้สึกไม่ได้เป็นธรรมชาติ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเสมอ เหตุดังนั้นเมื่อเราบอกว่าเราคิดด้วยความรู้สึกอย่าลืมเป็นอันขาดว่าเราไม่ได้คิดด้วยสายตาพระเจ้า แต่เราคิดด้วยสายตามนุษย์ที่อยู่ภายใต้วัฒนธรรมอันหนึ่งและสอนให้เรารู้สึกกับสิ่งต่างๆแตกต่างกัน แตกต่างกันระหว่างคนไทย คนญี่ปุ่น คนมาลายู ฯลฯ ไม่จำเป็นที่คนมาลายูจะรู้สึกเช่นเดียวกับคนไทยในเรื่องเดียว

สาม นอกจากความรู้สึกเป็นวัฒนธรรมแล้ว วัฒนธรรมไม่ได้เป็นของอยู่กลาง ทุกวัฒนธรรมสร้างขึ้นมาเพื่อก่อให้เกิดการครอบงำบางอย่างเสมอ ครอบงำโดยคนบางกลุ่มเสมอ มันไม่ใช่เป็นสิ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน หรือมีความเป็นกลาง ฉะนั้นการใช้ความรู้สึกจะต้องคำนึงถึงว่าเรากำลังใช้วิธีคิดเชิงมนุษยศาสตร์เพื่อครอบงำคนอื่นหรือเปล่า หรือเพื่อยอมรับการครอบงำของคนอื่นหรือเปล่าด้วย

พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้น วีธีคิดทางมนุษยศาสตร์จุดประกายคำถามที่ฉลาด และมีประสิทธิภาพในการศึกษา แต่ไม่ได้ให้คำตอบแต่อย่างใด ต้องใช้วิธีการอื่นๆเพื่อศึกษามัน เมื่อความรู้สึกมีความสำคัญเช่นนั้น จึงทำให้การศึกษามนุษยศาสตร์เริ่มต้นโดยการกล่อมเกลาความรู้สึก เราเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยในอดีต วรรณคดีไทย ฯลฯ ไม่ได้เรียนเพื่อไปเป็นเสาหลักของแผ่นดิน เราเรียนเพื่อจะทำให้มีความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน ฉับไวขึ้น และได้เอาไปใช้ในทางอื่นได้ด้วย

เหมือนกันกับการเรียนวิทยาศาสตร์ ก็จะถูกฝึกวิธีคิดที่วางอยู่บนข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ทั้งหลาย การเรียนทางมนุษยศาสตร์ก็คือการฝึกความรู้สึก เพื่อให้มีความรู้สึกที่ฉับไว แหลมคม ละเอียดอ่อน ต่อสิ่งต่างๆที่มันเกิดขึ้น ซึ่งตัวเนื้อหาที่เรานำมาใช้ในการนิยามมนุษยศาสตร์ เอาเข้าจริงแล้วมันคือเครื่องมือในการฝึกความรู้สึก

ยกตัวอย่าง เราเรียนปรัชญาเพื่อปลดปล่อยให้เราไม่ตกอยู่ภายใต้การสรุปหรือครอบงำของระบบที่อยู่รอบตัวเรา เช่น เวลานี้เราอยู่ในโลกที่นักเศรษฐศาสตร์มักจะทำให้เราเชื่อว่า ทุนนิยมเป็นธรรมชาติ เมื่อพัฒนาถึงระดับหนึ่งแล้ว อย่างไรก็หนีไม่พ้นทุนนิยม มันคล้ายกับการเติบโตทางร่างกายของมนุษย์ วันหนึ่งก็ต้องโต แต่มากซ์บอกว่าไม่จริง ทุนนิยมเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คนรุ่นหลังมากซ์ เช่น โปลันยีบอกว่า เราเอาแรงงานคน ที่ดิน เงินตราที่เป็นธรรมชาติไปอยู่ในตลาด สิ่งที่อยู่ในตลาดคือสิ่งที่ผลิตขึ้น จึงทำให้สามสิ่งนั้นผิดธรรมชาติไป ด้วยเหตุดังนั้นชีวิตของคนจึงอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง เพราะสิ่งที่เป็นธรรมชาติสามอย่างถูกยัดเข้ามาในตลาด ตลาดก็จะเป็นตัวกำหนด ชีวิตคนจะเสี่ยง หาความแน่นอนไม่ได้ ไม่รู้ว่าจนหรือจะรวยเมื่อไหร่

สิ่งที่กล่าวมาถูกผิดไม่สำคัญ แต่ทำให้คนหลุดพ้นจากการครอบงำว่าสภาพเศรษฐกิจที่เราเห็นอยู่เป็นธรรมชาติเท่านั้น มันมีทางเลือกอื่นๆได้ ทางเลือกนี้ไม่จำเป็นต้องเหมือนมากซ์ หรือใคร แต่ไม่มีอะไรที่บังคับเรา อันนี้คือหัวใจสำคัญของการที่เรียนวิชามนุษยศาสตร์ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น ประวัติศาสตร์ ปรัชญา วรรณคดี ฯลฯ เพราะมีทางเลือกในทางมนุษยศาสตร์สองอย่างในการเรียน คือ เรียนมนุษศาสตร์เพื่อปลดปล่อยก็ได้ เรียนมนุษยศาสตร์เพื่อจองจำก็ได้

“ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องคอยเตือนตัวเองเสมอว่าเรากำลังเรียนหรือสอนมนุษยศาสตร์เพื่อจองจำคนอื่นหรือเพื่อปลดปล่อยคนอื่นกันแน่ และผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักมนุษยศาสตร์ในประเทศไทยถามตัวเองน้อยไปหน่อย”

ประเด็นต่อมา คือความตกต่ำของวิชามนุษยศาสตร์ การศึกษาในเมืองไทยได้รับการอุดหนุนจากรัฐสูงมาก รัฐเชื่อว่ามนุษยศาสตร์สำคัญ รัฐก็ให้การอุดหนุนแก่เรามาก ซึ่งฟังดูดี แต่ในต่างประเทศผู้อุดหนุนการศึกษาที่สำคัญที่สุดคือ ตลาด พอตลาดบอกว่ามนุษยศาสตร์เรียนไปทำไม หางานทำที่ไหน มนุษยศาสตร์ก็ตก ฉะนั้นถามว่าในเมืองไทยมนุษยศาสตร์ตกต่ำไหม ตกแต่ไม่ตกต่ำเท่าในโลกตะวันตก อย่างน้อยก็มีการจัดสัมนา แต่ทุนวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ที่มาจากเอกชนไม่มีเลย

การได้รับหรือไม่ได้รับการอุดหนุนเป็นปัญหาข้อหนึ่งของมนุษยศาสตร์อย่างแน่นอน แต่มันมีความตกต่ำของมนุษยศาสตร์ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันที่เราไม่ค่อยได้คิดกัน

อันที่หนึ่ง คือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้เราเข้าถึงวรรณคดี ประวัติศาสตร์ ได้ง่ายมากขึ้น อันนี้เป็นข้อดีของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างแน่นอน แต่พร้อมๆกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เรามักจะได้ยินปัญหาที่อาจารย์มหาวิทยาลัยบ่น คือ การคัดลอก ตัด แปะ ของนักศึกษา ซึ่งปัญหานี้ตนคิดว่ามาจากปัญหาการสอนที่อาจจะไม่ท้าทาย เด็กเลยไม่สนใจหาความรู้มาตอบ ทั้งการสอนและวัดผลที่ตัวงาน คือไม่มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนหลังเด็กส่งงาน จึงทำให้เกิดการตัดแปะ

สิ่งที่เทคโนโลยีสมัยใหม่สร้างปัญหาด้านการเรียนการสอนมนุษยศาสตร์ คือ ดิจิตอลในตอนนี้เก่งถึงขนาดสร้างความสัมพันธ์ผ่านลิงค์

เวลาเราเรียนหนังสือ เราถูกสอนให้ฝึกคิด การคิดในที่นี้ คือการคิดโดยสร้างความสัมพันธ์ในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็นมาก่อน

วิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน ไอน์ไตล์ คิดถึงความสัมพันธ์ของเวลากับความเร็วหรืออะไรต่างๆในทฤษฎีสัมพันธ์ภาพ คือ การเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์ข้อเท็จจริงที่คนอื่นมองไม่เห็นมาก่อน

มนุษยศาสตร์ก็เหมือนกัน วิธีคิดของคนฉลาดคือ มองเห็นความสัมพันธ์ของบางสิ่งบางอย่างที่คนอื่นมองไม่เห็นมาก่อน

แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่เก่งเกินไป มันสร้างสิ่งเหล่านี้ให้เรา สิ่งนี้น่ากลัวกว่าการตัดแปะ สมมุติว่านักศึกษาอยากเรียนหนังสือแบบคนเก่ง เขาจะใช้คอมพิวเตอร์ในการค้นคว้า แต่คอมพิวเตอร์กลับแสดงผลให้เห็นว่าอันนี้สัมพันธ์กับอันนี้ ผ่านลิงค์ให้เรากดต่อไปยังหน้านั้น

“เราเรียนหนังสือ เพื่อสอนให้คนสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ท่ามกลางข้อเท็จจริงใหม่ พอใช้วิธีกดลิงค์ มันไม่ได้สร้างสักที มีคนอื่นสร้างให้ คนสร้างให้ก็อาจจะจบคอมพิวเตอร์ ไม่ได้จบทางประวัติศาสตร์ มันสั่งให้สัมพันธ์ไปเรื่อยๆ โดยที่ตัวมันเองก็ไม่ได้เข้าใจเหมือนกันว่าสัมพันธ์กันไปทำไม อันนี้เป็นอันตรายอันหนึ่ง เราจะทำอย่างไรที่จะใช้เทคโนโลยีด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ระวังหลุมพลางนี้”

อันที่สอง สิ่งที่ทำให้ มนุษศาสตร์ตกต่ำลงคือ แนวคิดเสรีนิยมใหม่ เพราะลัทธิเสรีนิยมใหม่เชื่อว่ามนุษย์ไม่มีอะไรอื่นนอกจากความเป็นปัจเจกบุคคล เสรีนิยมใหม่ต้องการปลดปล่อยให้เสรีภาพกับปัจเจกบุคคล เวลาพิจารณาอะไรแล้วมองที่ปัจเจก ไม่มีส่วนรวม แทตเชอร์เคยบอกว่า “สังคม” ก็เป็นแค่คำๆหนึ่ง แต่มนุษศาสตร์เราเรียนด้วยการอาศัยว่ามันต้องมีสังคม ส่วนรวม และวัฒนธรรมเป็นฐานเพื่อประเมินสิ่งต่างๆ แต่ถ้าประเมินจากฐานปัจเจกที่ไม่มีส่วนรวม แทบจะเรียนมนุษยศาสตร์ไม่ได้

“สิ่งนี้เป็นตัวทำให้เราตกต่ำ และผมเห็นนักมนุษยศาสตร์ไทยสนับสนุนเสรีนิยมใหม่เป็นจำนวนมาก จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็แล้วแต่ โดยไม่ได้เข้าใจว่า วิธีคิดแบบนี้เป็นตัวทำให้วิธีคิดเชิงมนุษยศาสตร์ไร้ความสำคัญลงไป”

ประเด็นสุดท้าย ในโลกปัจจุบันนี้คนเราเรียนหนังสือกันทำไม ในทัศนะนักคิดกลุ่มหนึ่ง เราไม่ได้เรียนหนังสือเพื่อหาความรู้ เราเรียนเพื่อสิ่งที่เรียกว่า “Perform  Activities” เป็นคำที่ไม่มีคำแปลทั้งในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส เป็นคำที่ สร้างขึ้นมาใหม่ ซึ่งแปลง่ายๆว่าเรียนหนังสือเพื่อไปแสดง จะมีบทให้คุณไปแสดงในภายภาคหน้า และบทเหล่านี้มีความละเอียดละออ ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ หรือเคมี ต้องแสดงให้ถูกบท เหตุดังนั้นการศึกษาทั้งหมด คือการเตรียมคนให้มีความสามารถในการไปแสดงตามที่ต่างๆ

สิ่งที่กล่าวมากระทบกับมนุษยศาสตร์อย่างยิ่ง มีคนเคยกล่าวว่า จิตรกรไทยเขียนภาพอย่างไรไม่สำคัญ แต่การอธิบายภาพอย่างไรสำคัญกว่า ถ้าอธิบายได้ฟุ้งเฟ้อมากๆคนจะนับถือทั้งประเทศ และไม่ได้มีแค่จิตรกร ประติมากร สถาปนิกก็ทำอย่างนี้

อาจารย์ชาตรี ประกิตนนทการ เป็นนักศึกษาด้านสถาปัตยกรรมที่สำคัญ บอกว่า สะพานพระราม 8 มีคำอธิบายจำนวนมากว่าเกี่ยวกับร.8 อย่างไร คือถ้าไม่มีใครพูดก็ไม่มีใครรู้ว่าสะพานร.8เกี่ยวกับร.8 อย่างไร นี่คือการ “Perform  Activities”

“ผมคิดว่าหัวใจของมนุษยศาสตร์ เราทำแบบนี้ไม่ได้ พันธะของเราคือ การบรรลุความจริง ไม่ได้เอาไปแสดงอย่างที่พูดไป”

ท่ามกลางปัญหาที่ใหญ่กว่าการขาดแคลนทุน คือ การถูกเบียดขับจากความรู้ที่เป็นศัตรูต่อมนุษยศาสตร์ซึ่งหาทางออกยากมาก แต่อยากเสนอสองสามประเด็น โดยไม่แน่ใจว่าจะเป็นทางออกที่ดี

หนึ่ง หัวใจสำคัญของมนุษยศาสตร์ คือ ต้องมีความคิดเสรี มีความสามารถในการคิดวิพากษ์วิจารณ์ เรียนมนุษยศาสตร์โดยขาดสองอย่างนี้ไม่ได้ ห้องเรียนมนุษยศาสตร์ในประเทศไทยเป็นห้องเรียนที่ส่งเสริมให้มีความคิดทั้งสองอย่างจริงหรือไม่ หรือเพียงแค่สอนสูตรสำเร็จที่ถือว่าดีเลิศ เช่น ในการเรียนวรรณคดีของตนยังไม่เคยมีโอกาสได้บอกว่าข้อความตรงนั้นดีมาก เพราะข้อความไหนจะดีมากไม่ว่าจะเป็นในขุนช้าง ขุนแผน พระอภัยมณี พระลอ ครูบอกให้แล้วประโยคไหนเป็นวรรคทอง

“ทำไมครูเป็นคนหา ไม่ใช่เราเป็นคนหา สิ่งที่ดีเลิศสำหรับครู อาจจะจริงสำหรับครู สิ่งที่ดีเลิศสำหรับเราก็ควรจะเป็นของเรา ถ้าเราให้เหตุผลที่ดีได้ แต่ครูไม่เคยมาถามเราว่าทำไมถึงคิดว่าดี”

งานของอาจารย์ชูศักดิ์ ที่วิจารณ์เรื่อง ทุ่งมหาราช ของ เรียมเอง ในตอนหนึ่ง ตัวพระเอกเรือล่มอยู่กลางแม่น้ำปิง และไปติดอยู่บนเกาะกลางแม่น้ำกับผู้หญิงเซ็กซี่ตัวกำลังเปียกน้ำซึ่งไม่ใช่เมียของเขา ตัวพระเอกลวนลามโดยการเข้าไปกอดและจูบ ผู้หญิงคนนั้นไม่ได้หลบหนีไปไหน แต่ถามผู้ชายที่กำลังกอดจูบอยู่ว่า “เป็นยังไง” อาจารย์ชูศักดิ์บอกว่าคำนี้เป็นประโยคที่เป็นวรรคทองของวรรณคดีโลก เท่าๆกับ “To be, or not to be?” ในแฮมเลต(Hamlet-Shakespeare) ซึ่งแกอาจจะผิดก็ได้ แต่มีเหตุผลบางอย่างเพราะคำๆนี้คำเดียวสะท้อนบุคลิคภาพทั้งผู้หญิงและผู้ชาย คือ ผู้หญิงคนไหนโดนลวนลามและถามคนร้ายว่า “เป็นยังไง” จะเป็นคนอย่างไรไม่ทราบแต่คนร้ายถอยไป คือผู้หญิงคนนี้กำลังครอบงำผู้ชายอยู่

สิ่งนี้ไม่เคยมีใครสอนตนสมัยเรียนวรรณคดีว่า วรรณคดีมีการมองได้หลายอย่าง เพราะฉะนั้นจึงคิดว่าถ้าห้องเรียนเป็นห้องที่ทำให้คนคิดเสรี ทำให้คนคิดแบบวิพากษ์วิจารณ์ จะเป็นห้องเรียนที่เด็กมีความตื่นตัว ไม่ได้เรียนเพราะเหตุที่ว่าเป็นวิชาพื้นฐานซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิชาที่น่าเบื่อหน่ายมากๆ และผู้จัดการศึกษาส่วนใหญ่ในประเทศไทยก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเรียนไปทำไม แต่อเมริกันเรียนก็เลยเรียนบ้าง คือหาเหตุผลที่แท้จริงไม่ได้

“ทำให้ห้องเรียนมนุษยศาสตร์เป็นห้องเรียนที่มีชีวิต เป็นมนุษย์จริงๆ เป็นที่ที่คนคิดได้ คนเขียนได้ เถียงได้ อันนี้คือหัวใจสำคัญที่เรามักจะละเลยไป เพราะเราไปนึกว่าเนื้อหาสำคัญ”

อันที่สอง เราชอบพูดเสมอว่านักเรียนที่มาเรียนกับเราเป็นคนรุ่นใหม่ แต่เราเข้าใจคนรุ่นใหม่มากแค่ไหน มันไม่ใช่แค่อายุยังน้อย เขาเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในเงื่อนไขที่เราไม่รู้จัก เช่น ในสมัยเป็นเด็ก ครอบครัวตนจะชอบนั่งเสพละครทางวิทยุด้วยกัน แต่สมัยนี้ไม่ใช่ เขาไม่ได้โตในครอบครัวแบบนั้น เขาโตในครอบครัวที่ทุกห้องมีโทรทัศน์   และตอนนี้โทรทัศน์น่าเบื่อจนไม่มีใครดูแล้ว คือ เกิดขึ้นในเงื่อนไขและบรรยากาศคนละอย่างกับเรา ดังนั้นต้องเข้าใจสิ่งที่จะทำให้เขาสนใจอยากรู้ สนใจอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องทำ เพราะ ถ้าพูดถึงวิธีการมันไม่มีอะไรที่เป็นคุณค่าถาวร เช่น ไม่เรียนขุนช้างขุนแผน แต่เรียนหนังเกาหลีแทนจะได้หรือไม่ เพราะมันบรรลุถึงจุดประสงค์เดียวกัน คือฝึกปรือความรู้สึกที่มันฉับไว ละเอียดอ่อน อ่อนไหว รับอะไรได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มมีระเบียบในการคุมความรู้สึกเหล่านี้ได้ในระดับหนึ่ง

อีกอันหนึ่งที่คิดว่าเป็นความล้มเหลวของการสอนมนุษยศาสตร์ในปัจจุบัน คือ มีสิ่งที่มันเกิดขึ้นใหม่ๆในสังคมไทยจำนวนมากและมนุษศาสตร์ไม่สนใจมันเลย เช่น ความมั่งคั่ง คือ ในสมัยเขียนขุนช้าง ขุนแผน คนสมัยนั้นหวังความสำเร็จในชีวิตในรูปของการได้เป็นขุนนาง เข้าเฝ้าใกล้ชิด เป็นราชาคณะ หรือได้เป็นคนที่บรรลุธรรมบางอย่างที่คนอื่นนับถือ แต่ตอนนี้ใครยังมีอุดมคติชีวิตแบบนี้อยู่บ้าง ดังนั้นจึงน่าจะเอาสิ่งที่เป็นอุดมคติจริงในชีวิตคนปัจจุบันเช่น ความมั่งคัง อยากรวย มาคุยกัน มีหนัง เพลง นวนิยายที่เกี่ยวกับความมั่งคั่งเป็นจำนวนมาก

สรุป คือ วิธีที่จะทำให้นักศึกษามีความสำคัญขึ้นในโลกปัจจุบัน ไม่ใช่การรอให้มีนักการเมืองที่ไปสมคบกับทหารทำรัฐประหาร แล้วฉลาดพอมาทำให้มนุษยศาสตร์ดีขึ้น อย่าไปหวังกับสิ่งเหล่านั้น จะสร้างฐานทางสังคมที่เข้าใจมนุษศาสตร์ได้ สอนเด็กให้ดี เพราะเด็กเหล่านี้พอโตออกไปแล้ว จะเริ่มเข้าใจว่าที่เราเคยสรุปเมื่อสมัยอยู่ปีหนึ่งปีสองมีประโยชน์ต่อชีวิตเขา และเขาจะเป็นผู้ผลักดัน

คำตอบคือว่า มันสายเกินไปแล้วสำหรับประเทศไทยในปัจจุบันที่อยากจะสร้างสิ่งดีๆโดยอาศัยอำนาจเผด็จการ ไม่มีทางอื่น ต้องอาศัยหนทางของประชาธิปไตยเท่านั้นถึงจะสร้างสิ่งดีๆต่อประเทศนี้ได้